#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

#ความจริงหนึ่งเดียว.

      #คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง (บทที่ ๑๐) จะแบ่งออกเป็น ๘ ประโยค ดังนี้:-

      #ประโยคที่ ๑ "กล่อมจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน ให้เป็นหนึ่งเดียวกับเต๋า...ได้ไหม"

      ฟุ้งซ่าน ก็คือ ความคิดปรุงแต่ง ถ้าคิดในเรื่องเพศตรงข้าม เรียกว่า กามตัณหา คิดอยากมีอยากเป็น เรียกว่า ภวตัณหา คิดอยากจะไม่มี อยากจะไม่เป็น เรียกว่า วิภวตัณหา, ที่ว่า เป็นหนึ่งเดียวกับเต๋า ก็คือ ความว่าง; จิตฟุ้งซ่าน คือ ความวุ่น เป็นหนึ่งเดียวกับเต๋า คือ ว่าง, ท่านถามว่า เป็นหนึ่งเดียวกับเต๋าได้ไหม?.

      #ประโยคที่ ๒ "อยู่กับพลังชีวิตที่ผ่อนคลาย ร่างกายให้อ่อนนุ่มเหมือนเด็กทารก...ได้ไหม"

      ชีวิตที่ยึดถือนั่นยึดถือนี่ เป็นชีวิตที่ตึงเครียดและอ่อนแอ ไม่มีพลัง ฉะนั้นต้องผ่อนคลาย ปล่อยวาง ชีวิตก็จะมีพลัง มีสมรรถนะในการทำงานทุกชนิด ที่ว่า ร่างกายอ่อนนุ่มเหมือนเด็กทารก หมายถึง ความอ่อนน้อมถ่อมตน, จิตที่มีพลัง คือ จิตที่เข้มแข็ง กายอ่อนนุ่ม คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน.

      #ประโยคที่ ๓"วางความคิดในใจลงจนไม่เห็นอะไรในใจ นอกจากแสงเรืองๆ...ได้ไหม"

      ไม่เห็นอะไรในใจ ก็คือ ว่าง (เต๋า) ความคิดปรุงแต่งเป็นม่านปิดบังสัจธรรม ท่านจึงแนะนำให้วางความคิดในใจลงจนไม่เห็นอะไรในใจ ถ้าว่างจากความคิดปรุงแต่ง ก็ย่อมเห็นแจ้งเต๋า ท่านใช้คำว่า แสงเรืองๆ ความว่างเป็นแสงที่ไร้แสง เป็นความสว่างที่ไร้ความสว่าง.

      #ประโยคที่ ๔ "รักและนำผู้คนโดยไม่บังคับเขาทำตามใจเจ้า...ได้ไหม"

      รักในที่นี้ หมายถึงเมตตา ซึ่งเป็นความรักที่ไม่เจือด้วยกิเลสตัณหาอุปาทาน แต่เป็นความรักที่บริสุทธิ์ ผู้ที่เปี่ยมด้วยความเมตตาหรือความรักที่บริสุทธิ์นั่นแหละ จะนำผู้คนโดยไม่ต้องบังคับ ผู้คนยอมปฏิบัติตามด้วยความสมัครใจ เรียกว่า ปกครองชนิดที่ไม่ต้องปกครอง นั่นคือ การปกครองที่ประเสริฐสุด.

      #ประโยคที่ ๕ "รับมือกับเรื่องเป็นเรื่องตายด้วยวิธีปล่อยให้สถานการณ์พาไปเอง...ได้ไหม"

      คนส่วนมากพอเกิดอุปสรรคหรือปัญหาอะไรขึ้นมา มักจะกังวลเป็นทุกข์ จิตใจว้าวุ่น การแก้ปัญหาจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แต่ถ้ารู้จักปล่อยวาง จิตใจว่างไร้ความปรุงแต่ง การมองสิ่งต่างๆ ก็จะเห็นชัดเจน บางสิ่งบางอย่างคนจิตวุ่นมองเห็นว่า เป็นปัญหาใหญ่ แต่ผู้มีปัญญามองเห็นว่า ธรรมดา.

      #ประโยคที่ ๖ "ถอยหลังออกจาก "ความคิด" เพื่อจะ "รู้" สรรพสิ่ง...ได้ไหม"

      ความคิดในที่นี้ หมายถึง ความคิดปรุงแต่ง คิดฟุ้งซ่าน คิดด้วยอวิชชา ที่ว่า ถอยหลังออกจากความคิด ก็คือ การปล่อยวาง เมื่อว่างจากความคิดปรุงแต่ง ก็จะกลายเป็นความรู้แจ้งต่อสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง ความคิดปรุงแต่ง เรียกว่า มโนกรรม เป็นการกระทำทางใจ ฉะนั้นต้องปล่อยวาง.

      #ประโยคที่ ๗ "ให้กำเนิดและเลี้ยงดูโดยไม่ถือครองเป็นของตน มีทรัพย์โดยไม่เป็นเจ้าของ"

      จะระบุไปที่พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดลูกก็ได้ ไม่ถือครอง ก็คือ เลี้ยงดูไปด้วยสติปัญญา ทำหน้าที่เกี่ยวข้องไปด้วยความรักความเมตตาอันบริสุทธิ์ แต่โดยทั่วไปมักจะเลี้ยงดูไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น ทุกอย่างต้องให้ได้ดังใจตน; ทรัพย์ก็เช่นกันมีไว้ด้วยสติปัญญา.

      #ประโยคที่ ๘ "ทำโดยไม่หวังผล นำโดยไม่พยายามควบคุม นี่จึงจะเป็นอำนาจที่แท้จริง"

      ทำโดยไม่หวังผล ก็คือ ทำด้วยสติปัญญา ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ทำงานเพื่องาน ถ้าเป็นผู้นำ ก็นำโดยไม่พยายามควบคุม นำด้วยความรักความเมตตา ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า การทำหน้าที่ต่างๆ โดยไม่หวังผล การเป็นผู้นำก็นำโดยไม่ต้องพยายามควบคุม นั่นคือ อำนาจที่แท้จริง. (๒๙ มิ. ย. ๖๖)

No comments yet...

Leave your comment

84261

Character Limit 400