#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
การตรัสรู้คือจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา
การตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มแห่งการปรากฏขึ้นของ “พระพุทธศาสนา” พระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศไว้ดีแล้ว ที่เรียกว่ามีจำนวนถึง “แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์” ก็เริ่มมาจากการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ณ ภายใต้พระศรีมหาโพธิ์นี้
คำว่า “ตรัสรู้” หมายถึง “การรู้แจ้ง” รู้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน เป็นการเข้าถึงความจริงอันสูงสุด ใน “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงความหมายของการตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ว่าคือการรู้แจ้งความจริงที่เรียกว่า “อริยสัจ ๔” คือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่
๑. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ คือตัวทุกข์
๒. สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่
๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง ๓ ได้อย่างสิ้นเชิง
๔. มรรค คือ หนทางปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับแห่งทุกข์ ที่เรียกว่า อริยมรรคมีองค์แปด คือมีองค์ประกอบอยู่แปดประการ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ - ความเห็นชอบ ๒. สัมมาสังกัปปะ - ความดำริชอบ ๓. สัมมาวาจา - การพูดจาชอบ ๔. สัมมากัมมันตะ - การทำการงานชอบ ๕. สัมมาอาชีวะ - การเลี้ยงชีพชอบ ๖. สัมมาวายามะ - ความพยายามชอบ ๗. สัมมาสติ - ความระลึกชอบ และ ๘. สัมมาสมาธิ - ความตั้งใจมั่นชอบ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" คือ ทางสายกลาง
การรู้อริยสัจ ๔ นั้น พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้อย่างแจ่มแจ้ง ตามความเป็นจริง โดยมีลักษณะการรู้ที่เรียกว่า รู้ครบทั้งวงรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ คือ
๑. สัจญาณ การหยั่งรู้สัจจะหรือความจริงของอริยสัจแต่ละข้อตามที่เป็นจริง คือ รู้ว่าทุกข์เป็นอย่างนี้ ๆ สมุทัยเป็นอย่างนี้ ๆ นิโรธเป็นอย่างนี้ ๆ และมรรค เป็นอย่างนี้ ๆ
๒. กิจญาณ การหยั่งรู้กิจอันจะต้องทำในอริยสัจแต่ละข้อ คือ รู้ว่าทุกข์นี้ควรกำหนดรู้ สมุทัยนี้ ควรละเสีย นิโรธนี้ควรทำให้แจ้ง และมรรคควรเจริญ
๓. กตญาณ การหยั่งรู้สิ่งอันทำแล้วในอริยสัจแต่ละข้อ คือ รู้ว่าทุกข์นี้ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยนี้ได้ละเสียแล้ว นิโรธนี้ได้ทำให้แจ้งแล้ว และมรรคนี้ได้ปฏิบัติอย่างถึงพร้อมแล้ว
เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้โดยรอบอย่างนี้ ก็จึงปฏิญาณพระองค์ได้ว่า
“ ทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์.
ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาติ
นี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป.” ดังนี้
สังวรธัมม์ เรียบเรียง