#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

ชีวิตไม่เต็ม

โดย: Soranat Amsri
Created: 05 Oct 2018

      ชีวิตไม่เต็ม

          ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีขึ้นก็เพื่อให้เรา รู้และเข้าใจความเป็นจริง และชีวิตของเราก็จะได้ไม่ตกจมอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์นั่นเอง

           เรามามองดูว่า ที่เราเป็นทุกข์นั้น เพราะมาจากความเครียดและวิตกกังวล คือ เราไปเห็นไปรับรู้ รับทราบหรือกระทบสัมผัสกับเรื่องอะไรแล้ว มักจะเกิดความวิตกกังวลขึ้นมาในใจ เรียกว่า เกิดความไม่สบายใจ จนเกิดเป็นความเครียดขึ้นมา และบางครั้งความเครียด ความกังวลเหล่านั้น ก็อาจจะเกิดมาจากเราตีตนไปก่อนไข้ คือว่า เราคิดฟุ้งซ่านไปก่อนที่เรื่องจะเกิดขึ้นจริง และคนเราก็มักจะเป็นกันอย่างนี้

           ความนึกคิด ฟุ้งซ่านไป ย้ำคิดย้ำทำ วนไปวนมา อย่างนี้ จนเกิดความไม่สบายใจ บางทีก็ก็มักจะคิดกังวลไปเกินกว่าเรื่องที่เป็น จนเกิดความเครียดขึ้นมา คนเราเมื่อเกิดความเครียดขึ้นมา บางทีโรคภัยต่างๆ ก็เกิดขึ้นตามมาจากความเครียดของเรา ด้วยความที่เป็นคนที่ชอบวิตก กังวลอยู่เรื่อย บางคนก็เป็นมาก บางคนเป็นน้อย แต่ก็สะสมเป็นความเครียด นำไปสู่โรคทางกาย มีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดตามข้อ ปวดตามเส้นต่างๆ เป็นต้น

           สภาพจิตใจที่วิตก กังวล อยู่เสมอนั้น เรียกอีกอย่างว่า ไม่วางใจลงได้ ไม่สามารถวางจิตใจให้แน่นอนลงไปได้ คล้ายๆ มีความกังวลอยู่ลึกๆ กลัวอยู่อ่อนๆ เช่น เวลาเราทำการงานของเรา แล้วก็เกิดความกลัว กลัวว่างานจะไม่ดี ทำแล้วจะออกมาไม่ดี กลัวความผิดพลาด กลัวคนจะมาต่อว่า ก็เกิดความวิตกกังวล มีความรู้สึกเหมือนกับว่า จิตใจนี่ มันพร่องอยู่เรื่อย รู้สึกมันขาดอยู่เรื่อย  หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น จะต้องไปในงานแต่งงานญาติพี่น้อง ก็จะกังวลในเรื่องการแต่งกาย เสื้อผ้าหน้าผม กลัวว่าจะไม่สวย ไม่งาม กลัวคนอื่นจะตำหนิ อย่างนี้เป็นต้น นี้คือความวิตกกังวล เพราะรู้สึกว่า ชีวิตไม่สมบูรณ์ ไม่เต็มอิ่ม จะต้องหามาเติม มาเสริมให้เต็มอยู่เรื่อยๆ และก็ไม่เต็มสักที ต้องคอยเติมคอยเสริมอยู่ตลอดไป

           สิ่งที่ทำให้เราต้องเติมต้องเสริมอะไรต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตนี่ ทางพุทธศาสนาเรียกสิ่งนี้ว่า ตัณหา คือ ความทะยานอยาก ที่คอยควบคุมจิตใจคนให้หิว ให้อยากอยู่เรื่อย เพื่อที่จะสนองตามความทะยานอยากของตัณหานั้น เมื่อได้สนองตามความอยากแล้ว ก็รู้สึกอิ่มรู้สึกเต็มอยู่พักหนึ่ง แล้วเดี๋ยวก็เกิดความหิวอยากขึ้นมาอีก เป็นอย่างนี้เรื่อยไป ๆ

          แต่ผู้ที่เข้าใจธรรมะแล้วนำธรรมะมาใช้กับชีวิต บุคคลผู้นั้น จะมีปัญญารู้ความจริงว่า จิตนี้นั้นมีความเต็มสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ได้พร่องอะไรเลย กิเลสตัณหาต่างหากที่เข้ามาครอบงำจิตใจของเรา จนทำให้เรารู้สึกว่ามันพร่อง จนเกิดความทะยานอยาก อยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากเด่น อยากดัง ฯลฯ  อยากจนเกินความต้องการของชีวิตที่แท้จริงอยู่เรื่อย ดังในสมัยพุทธกาล มีคำกล่าวของท่านพระรัฐปาล ว่า โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา คือมีความรู้สึกไม่อิ่มไม่เต็ม และตกเป็นทาสของตัณหา ต้องคอยรับใช้ตามคำสั่งของเจ้านายคือตัวตัณหาความทะยานอยากอยู่เป็นประจำ

          เรานั้นต้องใช้ปัญญามองให้เห็นความจริงว่า ชีวิตของเรานี้จริงๆแล้ว ก็ไม่ได้ต้องการอะไรมาก จิตใจนั้นก็ดีอยู่แล้ว เต็มอยู่แล้ว เพียงเรามีสติอยู่เสมอ ระมัดระวังตัวตัณหาความทะยานอยากที่มาควบคุมจิตใจของเราทำให้รู้สึกพร่องอยู่เรื่อย โดยเฉพาะความคิดปรุงแต่งต่างๆ เราต้องมีสติรู้เท่าทันความคิดเหล่านั้นให้ดี

          ถ้าว่าเริ่มคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่านไปแล้ว คือคิดเตลิดเปิดเปิง เกินกว่าเหตุไปแล้ว เราก็พยายามใช้สติดึงจิตให้กลับเข้ามาอยู่กับปัจจุบันขณะ รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ตรงหน้าขณะนี้เท่านั้น ความคิดปรุงแต่งเหล่านั้น ก็จะค่อยๆ ดับลง ๆ ลับหายไปเอง อย่างนี้เป็นต้น

 

                                                                             สังวรธัมม์

No comments yet...

Leave your comment

47309

Character Limit 400