#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
การพิจารณากายและจิต
เรื่อง. “การพิจารณากายและจิต”
“กุมฺภูปมํกายมิมํวิทิตฺวา นครูปมํจิตฺตมิทํถเกตฺวา
โยเธถมารํปญฺญาวุเธน ชิตญฺจรกฺเขอนิเวสโนสิยา.”
บุคคลรู้กายนี้ที่เปรียบด้วยหม้อกั้นจิตที่เปรียบด้วยเมืองนี้แล้ว
พึงรบมารด้วยอาวุธคือปัญญาและพึงรักษาแนวที่ชนะไว้ไม่พึงยับยั้งอยู่.
จากพระบาลีข้างต้นนั้นเราสามารถน้อมนำมาใช้ในการพิจารณามาพิจารณาได้คือ
๑. คำว่า“รู้กายนี้ที่เปรียบด้วยหม้อ” นั้นในสมัยพุทธกาลจะเป็นหม้อดินซึ่งมีลักษณะคือเป็นสิ่งที่แตกได้ง่ายและหากลองพิจารณาในมุมอื่นก็จะเห็นได้ว่ากายนี้ไม่เที่ยงร่างกายของคนเราก็เหมือนกันเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัยและก็ต้องดับไปในที่สุดฉะนั้นเราควรใช้ร่างกายนี้แบบไม่ประมาท, ประเด็นของพระสูตรนี้จะพูดถึงกายนี้ไม่ใช่ของยั่งยืนแตกได้ง่ายหรือพิจารณาเป็นลักษณะของธาตุ กายนี้ประกอบด้วยธาตุดิน,ธาตุน้ำ,ธาตุไฟ, ธาตุลมผสมกันอยู่ ไม่มีส่วนไหนบอกว่าเป็นตัวเราของเรา
๒. คำว่า“กั้นจิตที่เปรียบด้วยเมือง” นั้นกล่าวคือชีวิตของคนทั่วไปมักจะปล่อยให้อกุศลคือกิเลสต่างๆมีโลภโกรธหลงเป็นต้นเข้ามาย่ำยีจิตของเรา, ดังนั้นหากเราไม่ต้องการให้กิเลสปรากฏขึ้นในใจเราสามารถป้องกันกิเลสเหล่านั้นได้ด้วยการอาศัยนายด่านหรือนายประตูกล่าวคือสติซึ่งจะคอยกั้นไม่ให้สิ่งไม่ดีไม่งาม(อกุศล) ไหลเข้ามาในจิตของเรา
๓. คำว่า“พึงรบมารด้วยอาวุธคือปัญญา” นั้น, “มาร” หมายถึงสิ่งที่จะเข้ามาปิดกั้นไม่ให้เราเข้าถึงความดีงามหรือสิ่งที่มาฆ่าให้เราตายเสียจากความถูกต้อง, มารตามหลักพระพุทธศาสนามี๕ลักษณะแต่ขอยกมาส่วนเดียวที่เกี่ยวข้องกับพระบาลีคือ “กิเลสมาร”เป็นมารไม่มองเห็นด้วยตาแต่รู้ได้ด้วยใจซึ่งจะคอยบั่นทอนกำลังใจและเป็นอุปสรรค, ส่วนคำว่ากิเลสแปลว่าเครื่องเศร้าหมอง(การทำให้จิตที่บริสุทธิ์นั้นเศร้าหมองลงไป) ตามหลักพระพุทธศาสนาคือการที่จิตฟูขึ้นหรือลดลงจากอาการดีใจและเสียใจเพราะเกิดจากควายึดมั่นถือมั่นสุดท้ายความทุกข์ก็เกิดขึ้นนั่นเองซึ่งมีทั้งกิเลสฝ่ายดีและฝ่ายชั่วและทั้งกิเลสฝ่ายดีและฝ่ายชั่วนั้นเป็นสิ่งเข้ามาปรุงแต่งจิตเหมือนกัน, ถ้าต้องการรบกับกิเลสมารจึงต้องรบด้วยอาวุธคือปัญญาปัญญาทางพุทธศาสนาแบ่งเป็น๓ลักษณะกล่าวคือ
ก. สุตตมยปัญญาเป็นปัญญาที่เกิดจากการได้ฟังได้อ่านได้เรียนรู้เรื่องราวจากผู้อื่นซึ่งเป็นความรู้ที่นำมากำหนดแนวคิดของเราเอง,
ข. จินตามยปัญญาเป็นปัญญาที่เกิดจาการเอาสุตตมยปัญญาที่ได้เรียนรู้มาพิจารณาดูว่ามีเหตุผลควรเชื่อถือได้หรือไม่และสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์กับตนเองได้อย่างไร,
ค. ภาวนามยปัญญาเป็นปัญญาที่เกิดจาการพัฒนาจิตและปฏิบัติจนรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเองซึ่งถือว่าเป็นปัญญาที่แท้จริงซึ่งเป็นการต่อยอดจากสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา, ภาวนามยปัญญาในทางธรรมนั้นจะเป็นไปเพื่อการหลุดพ้นอันจะเกิดจากการปฏิบัติให้ถูกต้อง, ส่วนภาวนายปัญญาในทางโลกก็คือการลงมือทำด้วยตนเองในสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเชี่ยวชาญจนแตกฉานในสิ่งนั้นๆ
๔. คำว่า”พึงรักษาแนวที่ชนะไว้ไม่พึงยับยั้งอยู่" หากเราละกิเลสได้แล้วให้รักษาคุณงามความดีนั้นไว้แต่อย่าพึงหยุดยับยั้งอยู่ให้เราก้าวเดินต่อไป ท่านพุทธทาสแต่งกลอนบทหนึ่งไว้ว่า“มารไม่มีบารมีไม่เกิด” คนเราจะมีบารมีได้ก็เพราะมีมารคนเราจะมีธรรมะได้ก็เพราะมีกิเลสคนเราจะไม่ทุกข์ได้เพราะมีความทุกข์ ให้มองเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นฐานให้เราพัฒนาขึ้นไปจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น
สรุปคือเราควรพิจารณากายของเราว่าเดี๋ยวมันก็เปลี่ยน. เดี๋ยวมันก็เสื่อมเดี๋ยวมันก็พังท่านจึงบอกว่ากายนี้เปรียบด้วยหม้อ, และสอนให้เรากั้นจิตเปรียบเหมือนเมืองคือสอนให้เป็นผู้มีสติเฝ้าระมัดระวังอยู่ที่ตา,หู,จมูกลิ้น,กาย,ใจไม่ปล่อยให้กิเลสคือมารมาครอบงำจิตใจเราได้, และให้ภาวนาจนเกิดเป็นภาวนามยปัญญาคือปัญญาที่เห็นตามความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงคือเห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นได้จริง.
เรียบเรียงทำบรรยาย โดยสุวรรณี ตันติวีรสุต