#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
“ผู้ใดระวังรักษาจิต ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร”
“เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา”
”ผู้ใดระวังรักษาจิต ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร”
คนส่วนมากจะหาความสุขได้ก็ด้วยแสวงหาวัตถุภายนอกมาเสพบริโภค คือได้รับความเพลิดเพลิน จากการดู การฟัง การลิ้มรส การสัมผัสเคลิบเคลิ้ม เมื่อได้สิ่งเหล่านี้มาเสพบริโภค ก็เกิดความอยากที่จะได้รับรสแห่งความสุขจากสิ่งเหล่านี้ยิ่ง ๆขึ้นไป และก็เกิดการยึดติดถือมั่น อยากให้มี อยากให้เป็นอย่างนี้ตลอดไป ส่วนใหญ่ก็ทำได้กันอยู่แค่นี้
และเมื่อสิ่งเหล่านั้นเสื่อมสลายหายไปตามกาลเวลา เรียกว่าเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังขารทั้งหลาย ซึ่งมันไม่เที่ยง เมื่อถึงกาลที่มันต้องแปรเปลี่ยนไปแล้ว หากว่าเราไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริงของความไม่เที่ยงนั้น ด้วยความที่เราเข้าไปเสพรสจนหลงใหลยึดติดเสียแล้ว สิ่งนั้นก็จะนำมาซึ่งความทุกข์ใจเป็นอย่างมาก
เรามาเข้าวัดก็เพื่อมาทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริง เพื่อแสวงหาความสงบในทางจิตใจบ้าง ให้มีความสงบเย็น มีปิติปราโมทย์หล่อเลี้ยงจิตใจ ด้วยการทำบุญทำกุศล ให้เกิดมีขึ้นแก่ชีวิตของเรา
“บุญ” ( ปุญญะ) แปลว่า เครื่องชำระ คือ การชำระชะล้างจิตใจให้สะอาด เกิดปิติ ปราโมทย์เกิดความสงบในจิตใจสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญมี ๓ ประการดังนี้
๑. ทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับ
๒. ศีล ได้แก่ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เป็นกุศล คือ ไม่เบียดเบียนตนเองและบุคคลอื่นให้เดือดร้อน
๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบ คือ สมถภาวนา และการอบรมให้เกิดปัญญา คือ วิปัสสนาภาวนา
การทำบุญ ด้วยการให้ “ทาน” คือ การสละออก เราต้องรู้จักการแบ่งปัน เพื่อความมีสันติสุขของส่วนรวม ”จิตที่คิดจะให้ สบายกว่าจิตที่คิดจะเอา”
การทำบุญ ด้วยการรักษา “ศีล” (สีละ แปลว่า ปกติ) รักษาความมีระเบียบวินัย โดยการทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ทำด้วยความไม่ประมาท สำรวมอินทรีย์ บริบูรณ์ด้วยความปกติ นี้คือ หัวใจของ“ศีล” ผู้รู้กล่าวไว้ว่า “ อย่าเอาความผิดปกติของผู้อื่น มาทำลายความเป็นปกติของตัวเราเอง” เช่น เมื่อเราได้เห็น ได้ยิน ผู้อื่นไม่สำรวม อารมณ์เกรี้ยวกราด แล้วเรารับอารมณ์นั้นมาด้วยความขุ่นเคือง ทำให้เราเกิดความไม่พอใจ ไม่สบายใน จึงเป็นเหตุให้เกิดความไม่ปกติในตัวเราได้ ดังนั้น เราไม่ควรรับเอา ความไม่ปกติของผู้อื่น มาทำลายความเป็นปกติของตัวเรา
การทำบุญ ด้วยการ “ภาวนา” (ภาวนา แปลว่า พัฒนา) ให้เกิด ให้มีขึ้นในจิตใจ โดยการรักษาจิตให้เป็นกุศลอยู่เสมอ ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ตั้งไว้เบื้องต้น ว่า
“เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา”
”ผู้ใดระวังรักษาจิต ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร”
การระวังรักษาจิต คือ การเจริญภาวนาโดยใช้สติสัมปชัญญะ อันเป็นเครื่องปกป้องคุ้มครองจิตจากบ่วงแห่งมาร ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่เกิดจากความน่ารักน่าพอใจ เป็นที่ตั้งแห่งความหลง ความยึดมั่นถือมั่น อันนำมาซึ่งความทุกข์
รักษาจิตให้ดี ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง
มีสติอย่าให้พร่อง ความเศร้าหมองจะหมดไป
เรียบเรียงธรรมเทศนา โดย ลลิต มณีธรรม