#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
เรื่อง “ลุชฺชตีติ โลโก.” สิ่งใดแตกได้ สิ่งนั้นคือโลก.
เรื่อง “ลุชฺชตีติ โลโก.” สิ่งใดแตกได้ สิ่งนั้นคือโลก.
คำว่า โลก สามารถแสดงความหมายเป็น ๒ ประการ ดังนี้ คือ
๑. โลก ในภาษาคน ที่เรียกว่า บุคคลาธิฐาน คือ ดาวพระเคราะห์ดวงหนึ่งซึ่งมีการเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ เช่นเกิดสงคราม เกิดภัยธรรมชาติ เป็นต้น
๒. โลก ในภาษาธรรม ที่เรียกว่า ธรรมมาธิฐาน คือ การไม่พูดถึงบุคคล แต่จะพูดถึงขณะจิตเป็นขณะๆ ไป, ในภาษาธรรม คือ รูป นาม หรือ กาย จิต หลายท่านคงได้ยินภาษาธรรมของคำว่า โลก เช่น ปรโลก หมายถึง โลกอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ อาทิเช่น พรหมโลก นรกโลก อสุรกายโลก ซึ่งรวมถึงที่เป็นสถานที่ แต่สำหรับภาษาธรรมแล้วนั้น จะมีความหมายเป็นอื่น ดังพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
“ในกายที่ยาว ประมาณวา หนึ่ง พร้อมทั้งสัญญาทางใจ ตถาคตบัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก ความดับสนิทแห่งโลกและทางปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทแห่งโลก”.
คนส่วนใหญ่รู้จักคำว่า โลก เป็นเพียงคำจำกัดความในภาษาคนเท่านั้น กล่าวคือโลกที่ร่างกายใช้อาศัยอยู่ คือสถานที่นั่นเอง เช่น เราอยู่ที่ประเทศไทย ประเทศอินเดีย ฉะนั้นจึงขอกล่าวอธิบายเพิ่มเติมให้ทราบ “โลก” ยังสามารถแปลความหมายในอีกมุมหนึ่ง คือ โลก ที่จิตใจเข้าไปอาศัยอยู่ ณ ขณะนั้น เช่น เวลาโกรธ ใจเราร้อนเป็นไฟ จึงอาจเรียกว่าจิตไปอยู่ในนรก หรือขณะที่จิตเรามีความอยากความต้องการมากๆ คือ จิตไปอยู่ในลักษณะของเปรต ฉะนั้น ขณะจิตที่ถูกกิเลสครอบงำ คือที่อยู่ของจิตนั่นเอง
หากขณะใด จิตเรามีคุณธรรม คือ หิริโอตัปปะ ซึ่งจิตคนนั้น ชื่อว่าเป็นเทวดา เรียกว่า เทวโลกได้เช่นกัน หรือ จิตที่มีพรหมวิหารสี่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จิตเราเรียกว่า อยู่ในพรหมโลก เป็นต้น ดังนั้น เราสามารถสังเกตคำว่าโลก ในทางกาย หรือ โลกซึ่งเป็นที่อยู่ของจิต นั่นต่างกันสิ้นเชิง
เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราพึ่งมองคำว่า โลกในมุม ที่ลึกขึ้นไป ดังคำตรัสว่า “ในกายที่ยาว ประมาณวา หนึ่ง พร้อมทั้งสัญญาทางใจ (คือ คนที่มีชีวิตอยู่) ตถาคตบัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก ความดับสนิทแห่งโลก”.
โลก ความหมายแรก คือ ความทุกข์ สภาพของจิตที่เศร้าหมองถูกความทุกข์ครอบงำ
อะไรเป็นเหตุ ให้เกิดทุกข์ คือความอยากซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ความดับสนิท หรือที่สุดแห่งโลก คือ นิโรธ ความดับสนิทแห่งทุกข์
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทแห่งทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์แปด คือวิธีเพื่อแสวงหาทางดับแห่งทุกข์
โดยสรุปคำว่าโลกสามารถกล่าวได้ในหลายความหมาย ในที่นี้ขอกล่าวถึง ๓ ความหมาย ได้แก่
๑. โลก ที่กายเข้าไปอาศัยอยู่
๒. โลก ที่จิตเข้าไปอาศัยอยู่
๓. โลก ในมุมของความทุกข์
ทั้งสามอย่างนี้ มีสิ่งเหมือนกัน คือเป็นสภาพแวดล้อมแบบหนึ่ง คือ กายเข้าไปอาศัยอยู่ จิตเข้าไปอาศัยอยู่ และทุกข์ครอบงำอยู่ ดังนั้น เราพึงมองความหมายของโลกให้ลึกซึ้งดังคำสอนของพระพุทธองค์ด้วยกันเถิด
เรียบเรียงธรรมบรรยายโดย ลลิต มณีธรรม