#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

27 Sep

โลกธรรม

คำว่า  "โลกธรรม"  แปลว่า  สิ่งที่ต้องมีอยู่ในโลก  คือธรรมประจำโลก  หรือธรรมของโลก   หมายถึงสิ่งที่ต้องมีอยู่ในโลก หรือประจำอยู่ในโลกเป็นปรกติ  เหมือนกับแดด ลม ฝน อะไรเหล่านี้ ซึ่งจะต้องมีอยู่ในโลก และตกรดถูกสัตว์ในโลก   ส่องถูกสัตว์โลก  ตามประสาธรรมดาของแดด  ของลม  ของฝน เป็นต้น  

          สิ่งที่เรียกว่า "โลกธรรม"  นั้นมีพระบาลีว่า

ลาโภ  อลาโภ   อยโส  ยโส  จ

นินฺทา  ปสํสา  จ   สุขํ  ทุกฺขญฺจ

การได้มากับการเสียไป  มีชื่อเสียงกับเสื่อมเสียชื่อเสียง

การถูกนินทาและคำสรรเสริญ  สุขและทุกข์

          ที่เรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น  "โลกธรรม"  เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับชาวโลก  การได้-การเสีย,  การมีชื่อเสียง-การเสียชื่อเสียงการถูกนินทา-การถูกสรรเสริญ, และความสุข-ความทุกข์  ทั้ง ๘ นี้  มีอยู่เป็นประจำโลก ถ้าคนเราประพฤติผิด  ต่อสิ่งที่เรียกว่า "โลกธรรม" นี้แล้ว  ชีวิตนี้จะ ระส่ำระส่าย ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่เรื่อย 

          ทีนี้จะพิจารณาถึงกฎของโลกธรรม  ซึ่งมีคำบาลีว่า  เอเต อนิจฺจา มนุเชสุ ธมฺมา   แปลว่า  "สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด  เป็นมายา  เปลี่ยนแปลงเรื่อยในหมู่มนุษย์"  โลกธรรมทั้งหมดนี้  เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเรื่อย เป็นมายาหลอกลวง.   การที่เราจะไปเอาให้ได้อย่างใจกับสิ่งที่เป็นมายาหลอกลวงนั้น   ทุกคนก็ย่อมเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  แต่แล้วจิตใจของเราก็ยังคงจะเอาให้ได้  อยู่นั่นเอง  จะเห็นได้ตรงที่มีคนร้องไห้ เสียใจ   เมื่อไม่ได้อย่างใจ   ทั้ง ๆ  ที่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ใคร ๆ ก็เห็นอยู่ว่าไม่เป็นไปตามความต้องการของใคร  เพราะมันเป็นของไม่เที่ยง   ทั้งนี้ก็เพราะว่าสิ่งที่ตนอยากได้นั่นแหละ  มีอำนาจมาก มันประทับแน่นแฟ้นอยู่ในใจ.

          ในบรรดาโลกธรรมทั้งแปดเหล่านี้  สิ่งที่เรียกว่า  สุขเวทนา  หรือความรู้สึกเป็นสุขในทางวัตถุ  ทางเนื้อทางหนัง นี้เอง  เป็นสิ่งที่ประทับใจยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ  การได้ลาภ  มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกสุขเวทนา,  การได้ยศได้ชื่อเสียง  มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุขเวทนาการถูกสรรเสริญ  ก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นสุขเวทนา,  การได้อย่างใจ ตามสบายใจ ก็เป็นเหตุให้เกิดสุขเวทนา  หรือเป็นตัวสุขเวทนาโดยตรงตลอดถึงการที่เราไม่เจ็บไม่ไข้สบายดี   มันก็คือสุขเวทนาทั้งหมดนี้เป็นฝ่ายหนึ่ง.  และมีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายตรงกันข้าม คือทุกขเวทนา จะต้องเจ็บไข้  ไม่สบาย  ทุกข์ทนหม่นหมอง  ยากจนข้นแค้น ถูกนินทา เสื่อมชื่อเสียง เหล่านี้เป็นที่ตั้งของทุกเวทนา.

          ฉะนั้น  จึงเห็นได้ว่า  สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ตกเป็นทาสของสุขเวทนานี้  ท่านจึงสอนให้พิจารณา ให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์  ของสิ่ง ๆ เดียวนี้ก็พอ  คือสุขเวทนา  เพราะเหตุว่า อะไร ๆ มันก็มารวมอยู่ที่สุขเวทนา.  เรื่องเงินทอง  ข้าวของทรัพย์สมบัติ  ชื่อเสียง อะไรต่างๆ   ก็มารวมอยู่ตรงที่  "สุขเวทนา" นี้ทั้งนั้น  

ผู้ที่ไม่รู้จักโลกธรรม  ไม่มีอำนาจอยู่เหนือโลกธรรม  จึงตกเป็นทาสของสุขเวทนาอยู่เป็นประจำ   อันเป็นมูลเหตุให้ทำกรรมต่าง ๆ  กรรมดีบ้างหรือกรรมชั่วบ้าง ไปตามประสาของคนที่ยังถูกลวงด้วยของเป็นคู่ อันเป็นมายาเหล่านี้ 

          ทีนี้ เรามาพิจารณาถึงการถูกลวงอยู่ด้วยของเป็นคู่ อันเป็นมูลเหตุให้ไหวไปตามโลกธรรม คือ ได้ลาภ - เสื่อมลาภได้ยศ - เสื่อมยศ, นินทา - สรรเสริญ, สุข - ทุกข์  คือถ้ายังพิจารณาเห็นลาภ  โดยความเป็นลาภ หรือเห็นการได้  โดยความเป็นการได้  การไม่ได้  โดยความเป็นการไม่ได้  แตกต่างตรงข้ามเป็นคู่แล้ว  เราก็ต้องหลงรักและหลงชังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่เสมอไป 

แต่ถ้าเห็นเป็นอนิจจังเสมอกัน  ก็จะเห็นเป็นของอย่างเดียวกัน  ไม่เป็นคู่.  การได้  ก็เป็นอนิจจัง,การไม่ได้ก็เป็นอนิจจัง  คือเป็นของไม่เที่ยงแท้ หลอกลวง ยึดถือเข้าก็เป็นทุกข์ทั้งนั้นอย่างนี้ก็หมดความเป็นคู่  และหมดความเป็นโลกธรรมที่จะเบียดเบียนเราได้อีกต่อไป.

          หากเรามองไม่เห็นถึงความเป็น อนิจจัง  ของสุขหรือทุกข์โดยชัดเจน ว่าเป็นของไม่เที่ยงเสมอกัน  จิตกลับติดยึดถือมั่นในสุขเวทนา  แล้วหลงเกลียดหลงชังทุกขเวทนาเหล่านี้  ถ้ายังมีอยู่เพียงไร  เราก็จะต้องเป็นทาสของโลกธรรมอยู่เพียงนั้น.

No comments yet...

Leave your comment

75340

Character Limit 400