#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

ความเป็นกลาง

ความเป็นกลาง

          พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรกหรือปฐมเทศนา เรียกว่า “ ธัมมจักกัปวัตตนสูตรก็คือ ทรงแสดงพระสูตรที่เป็นการหมุนวงล้อธรรมหรือตั้งอาณาจักรธรรม ในพระสูตรนี้ มีสาระสําคัญ คือ

          ๑. พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเรื่อง ทางสายกลาง ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ให้เว้นจากสุดโต่งสองอย่าง คือ อัตตกิลมถานุโยค กับ กามสุขัลลิกานุโยค

          ๒.เมื่อแสดงทางสายกลางจบแล้ว ก็ทรงแสดงอริยสัจ ๔  ที่จริงสาระสําคัญที่ว่า ทางสายกลาง กับ อริยสัจ ๔ นั้น ทั้งสองอย่างก็เรื่องเดียวกัน

          ทางสายกลางนั้น ก็เป็นเพียงว่า พระพุทธเจ้าตรัสขึ้นมาเพื่อจะนําเข้าสู่ อริยสัจ ในอริยสัจเองนั้น ก็มีมัชฌิมาปฏิปทารวมอยู่แล้ว คือ ทางมีองค์แปดประการ ในข้อ “มรรคหรืออริยสัจข้อที่ ๔ นั่นเอง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เพราะฉะนั้น ก็คือเรื่องเดียวกัน เพราะมัชฌิมาปฏิปทาก็รวมอยู่ในอริยสัจ 

          สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เรื่องทางสายกลางนี่แหละ เป็นจุดปรารภ เพราะว่าในสมัยพุทธกาลนั้น คนเอียงสุดโต่งกันนัก ไม่ว่าจะดําเนินชีวิต จะถือศาสนา จะปฏิบัติอะไร ก็ไปสุดโต่ง พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่า มันผิด จะต้องเดินทางใหม่ให้ถูก จึงได้ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา

          ทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทานี้ เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้วเดินไปตามทางสายกลาง ก็จะบรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนา เอาทางสายกลางมาวางความเป็นกลางให้ถูก

          เวลาคนเราพูดถึงเรื่องความเป็นกลาง ๆ พูดกันไปกันมา แต่ไม่รู้ว่าเป็นกลางคืออย่างไร ทางสายกลางเป็นเรื่องใหญ่ เป็นวิถีชีวิตทั้งหมด เป็นการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ส่วน ความเป็นกลางนั้น เป็นการปฏิบัติปลีกย่อย บางทีก็เป็นการวางตัวในแต่ละกรณี

         ในที่นี้ เราไม่พูดถึงความเป็นกลางทางการเมือง ดังเช่นการ สงครามระหว่างประเทศ เป็นกลางของเขาก็คือ ไม่เข้าข้างไหน และ ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย เป็นเรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว ซึ่งลึกลงไปก็เป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ ความเป็นกลางแบบนี้จึง อาจจะมีความหมายและการปฏิบัติที่ซ่อนเร้น คือมองที่ผลประโยชน์ของพวกตัว หรือของประเทศของตนเป็นหลัก

         เราไปพบคนร้ายรังแกเด็ก หรือเห็นโจรปล้นชาวบ้าน เราก็บอกว่า ฉันเป็นกลาง ไม่เข้าข้างไหน ไม่ใช่เรื่องของข้า ฉันไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย แล้วก็ปล่อยให้ เขารังแกและปล้นกันไป เป็นกลางอย่างนี้คงไม่ดีแน่

         ฉะนั้น ความเป็นกลางที่แท้ หรือความเป็นกลางที่ดี จึงต้องมีหลัก ก็คือทําตามคติของทางสายกลางนั่นแหละ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น ทางสายกลาง เป็นอย่างไร ระวัง! เป็นกลางไม่เป็น จะกลายเป็นคนไม่มีหลัก

         ขอย้ำก่อนว่า เป็นกลาง หรือทางสายกลางนี้ ไม่ใช่อยู่กึ่งกลาง ระหว่างสองฝ่าย เช่นคนนหนึ่ง กินเหล้ามาก คนหนึ่งกินเหล้าน้อย เราเป็นกลาง เราก็กินกึ่งกลางระหว่างสองคนนั้น ถ้าคนแรกกิน สิบแก้ว คนที่สองกินสี่แก้ว เราเป็นคนกลาง จะกินเท่าไร คิดเอาเอง และถ้าสองคนนั้น กินเพิ่มขึ้น หรือลดลง เราก็ต้องเพิ่มต้องลดตาม เป็นกลางอย่างนี้ไม่ถูก พอพวกสุดโต่งขยับไปขยับมา ก็ต้อง ขยับเรื่อย ถ้าเป็นแบบนี้ คนเป็นกลางนี่แย่ที่สุด กลายเป็นคนไม่มีหลัก

         คนที่สุดโต่งเขายังมีหลักเป็นตัวเขาเอง แต่คนเป็นกลางนี้ต้อง รอดูว่าเขาจะเอาอย่างไร แล้วตัวเองก็ขยับไป ต้องเป็นนักคํานวณ และคอยจ้องดู ถ้าอย่างนี้ไม่ถูกแล้ว

         ทางสายกลาง คือทางที่ตรงไปตามความถูกต้อง ถ้าจะเป็นกลาง ก็ต้องมีหลัก พระพุทธเจ้าตรัสหลักไว้แล้ว ความจริง มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลางนี่ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ อีกชื่อหนึ่งว่า “สัมมาปฏิปทาเมื่อกี้บอกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ปฏิปทาที่เป็นมัชฌิมา คือเป็นกลาง ทีนี้บอกอีกว่า สัมมาปฏิปทา ปฏิปทาที่เป็นสัมมา หรือ ข้อปฏิบัติชอบ คือถูกต้อง

         คราวนี้มีหลักที่จะกําหนดแล้ว คือต้อง “ ถูกต้องแต่ว่าถูกต้องอย่างไร มีคําขยายอีกว่า สัมมาปฏิปทา ได้แก่ ธัมมานุธัมมปฏิปทาแปลว่า ปฏิปทา หรือข้อปฏิบัติ ที่สอดคล้องกับธรรม พอถึงตรงนี้ก็ชัดแล้ว ทางสายกลาง ก็คือ ทางที่ตรงตามธรรม ทางที่ดําเนินไปตามธรรม

         ถ้าเราเป็นกลาง เราก็อยู่กับธรรม ธรรม คือ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เป็นอย่างไร เราเอาอย่างนั้น ตอนนี้แหละ ถ้าเราเป็นกลาง เราไม่ขยับไปไหนแล้ว พวกสุด โต่งนั้นแหละต้องขยับตามเรา

         เป็นกลาง คืออยู่กับความถูกต้อง เพราะฉะนั้น ถ้าจะเป็นกลาง ก็ต้องเป็นกลางให้ถูก คือ ไม่ไป ถือตามข้างไหน ไม่ใช่แค่ไม่เข้าข้างไหน แต่ถึงขั้นไม่เข้าใครออกใคร

         ไม่เอียงข้าง ไม่ตกเป็นฝ่าย แต่อยู่กับธรรม อยู่กับความถูกต้อง อยู่กับสัมมา ตั้งแต่มีปัญญาที่รู้เข้าใจว่าอะไรถูกต้อง เมื่อเราอยู่กับธรรม ใครปฏิบัติถูกตามธรรม ก็เข้ากับเราได้เอง เราก็เป็นหลักได้เลย

         เป็นกลางมีจุดเดียว ไม่กลางก็เอียงข้างทั้งหมด หากจะเป็นหลักให้แก่สังคม คนที่เป็นกลางจะต้องหาธรรมให้ได้ว่า ธรรมอยู่ตรงไหน และยึดธรรมนั้น เอาธรรมเป็นหลัก อย่างนี้ละก็ เป็นกลางที่แท้จริง เป็นกลางที่ไม่เข้าใครออกใคร

         ขอให้ทําความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ความเป็นกลาง หรือทางสายกลางที่แท้จริงนั้น ก็คือ การที่อยู่กับธรรม อยู่กับความจริง ความ ถูกต้อง ความดีงามนั่นเอง มีปัญญารู้ความถูกต้อง จึงจะเป็นกลาง หรือเดินทางสายกลางได้

                                 เรียบเรียงจากหนังสือ ความรุนแรง เกิดจากความอ่อนแอ & เมื่อวินัยไม่มี เสรีภาพก็หายไป

                                พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

No comments yet...

Leave your comment

87957

Character Limit 400